การล้างพิษ ควรขับออกหลายทาง

การล้างพิษ ควรขับออกหลายทาง

ล้างพิษ เพื่อชีวิตใหม่ ดร.สาทิส อินทรกำแหง เขียน

ดร.สาทิส อินทรกำแหง ผู้เผยแพร่แนวคิดการดูแลสุขภาพ ‘ชีวจิต’ อธิบายไว้ว่า ท็อกซิน (Toxin) คือพิษ แต่ไม่ใช่ยาพิษ ท็อกซินคือพิษที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาทางเคมีในร่างกายเรา อาจจะเกิดจากการกินอาหารสารพัดอย่างแล้วเกิดการบูด เกิดลม อันแสดงถึงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับร่างกาย และปฏิกิริยานั้นเป็นตัวทำลายสุขภาพของเรา
นอกจากกระบวนการเผาผลาญอาหารแล้ว ในสภาพแวดล้อมที่เร่งรีบและแสนวุ่นวาย ท็อกซินยังสามารถเกิดขึ้นได้จากมลพิษในอากาศ สารปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่มที่ไม่สะอาด สารเคมีต่างๆ ยา รวมทั้งฮอร์โมนที่เกิดจากอารมณ์ร้ายๆ ของคุณเอง แต่ถึงอย่างนั้น ร่างกายก็มีกลไกที่จะกำจัดของเสียทิ้งไปได้ในสี่รูปแบบ คือ

  • ลมหายใจออก 
  • เหงื่อ 
  • ปัสสาวะ 
  • และอุจจาระ

เมื่อเกิดสารพิษขึ้น ตับจะทำหน้าที่กรองสารเคมีเหล่านั้นและปรับให้อยู่ในสภาพที่ไร้พิษมากที่สุด ก่อนจะขับออกไปในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพราะปริมาณของพิษที่เกิดขึ้นนั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่ร่างกายสามารถทำความสะอาดตัวเองได้เองตามธรรมชาติ แต่การมีวิถีชีวิตแบบคนเมืองที่เน้นความสะดวกสบาย นอกจากจะเพิ่มโอกาสการรับสารพิษให้มากขึ้นแล้ว ก็ยังปิดกั้นร่างกายให้ใช้แรงงานน้อยลงด้วย สิ่งนี้จึงเริ่มกลายเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้สารพิษสะสม รวมทั้งบั่นทอนระบบกำจัดของเสียไม่ให้ทำงานได้อย่างเต็มที่เหมือนเช่นเคย 

การแพทย์แนวธรรมชาติบำบัดให้ความสำคัญกับศาสตร์แห่งการ ‘ล้างพิษ’ อย่างกว้างขวางในฐานะหนทางแห่งการบำบัดโรคด้วยพื้นฐานหลักคิดที่ว่า ท็อกซินในร่างกายเป็นบ่อเกิดของโรค การกำจัดท็อกซินและหลีกเลี่ยงการเกิดท็อกซินใหม่ๆ จึงเป็นการดูแลสุขภาพให้ปลอดจากโรคนั่นเอง

สุขภาพดีเริ่มต้นที่การกิน
พฤติกรรมการกินเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดพิษในร่างกาย การเลือกรับประทานแต่อาหารที่ถูกปาก จึงทำให้อาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ รวมทั้งวัตถุปรุงแต่งอาหารจำนวนมากตกค้างอยู่ในร่างกาย 

อาหารที่เราเห็นหรือนำเข้าปากต่างกับอาหารที่ร่างกายต้องการนำไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ อย่างสิ้นเชิง เพราะอาหารทุกชนิดไม่ว่าจะมีหน้าตาน่ารับประทาน หรือหรูหราเพียงใด เมื่อเข้าไปสู่กระบวนการทำงานของร่างกายแล้ว สิ่งที่กลไกในระบบย่อยรู้เพียงอย่างเดียวก็คือทำงานให้ได้มาซึ่ง สารอาหาร และกำจัด กากอาหาร ออกไป ดังนั้น พฤติกรรมการกินที่ผิด เช่น กินเนื้อสัตว์มากๆ กินอาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาลสูงมาก จึงเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดสารพิษในระบบย่อยอาหาร

อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว หรืออาหารที่ทำจากแป้งต่างๆ หลังจากถูกย่อยมาตั้งแต่ในปากแล้ว อาจอยู่ในลำไส้เพียง 1 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นอาหารประเภทเนื้อสัตว์ หรือไขมัน อาจต้องใช้เวลาในการย่อยนานกว่านั้น เพราะเป็นอาหารที่ย่อยยาก และเป็นการย่อยที่ไม่ทำให้เกิดการแตกตัว บางครั้งอาจต้องใช้เวลาในการย่อยและดูดซึมนานนับ 10 ชั่วโมง หนำซ้ำร่างกายก็ยังไม่สามารถดูดซึมไปใช้ได้ ทั้งยังเหลือสารพิษตกค้างเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งอย่างคือแอมโมเนีย ทำให้ตับต้องรับภาระในการเปลี่ยนแอมโมเนียให้เป็นยูเรีย และส่งต่อไตกรองสารพิษอีกชั้นหนึ่งก่อนจะขับถ่ายออกเป็นปัสสาวะ (ซึ่งถือว่าเป็นการทำงานหนักโดยใช่เหตุ)

เมื่ออาหารจำนวนมากตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร จึงเกิดการหมักหมม เน่าและกลายเป็นกรดที่เหม็นบูด กลายเป็นแก๊สที่ทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอเหม็นเปรี้ยว

นอกจากนี้ กากอาหารที่ถูกดูดซึมสารอาหารไปหมดแล้ว และควรถูกขับทิ้งออกไปให้เร็วที่สุดคือภายใน 24-36 ชั่วโมง ก็กลับต้องรอค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่ด้วยเวลานานกว่านั้น เพราะอาหารที่คุณรับประทานไม่มีกากใยมาเพียงพอที่จะขับเอากากอาหารออกมา ในขณะที่ลำไส้ใหญ่ก็จะทำหน้าที่ดูดน้ำจากกากอาหารที่รออยู่ไปเรื่อยๆ จนก้อนกากอาหารนั้นแห้งแข็ง เป็นที่มาของอาการท้องผูก โรคริดสีดวงทวาร และแผลในลำไส้ใหญ่

หากปล่อยให้สารพิษเกิดขึ้นในระบบย่อยอาหารอย่างนี้ต่อไป คุณก็จะเริ่มป่วยด้วยด้วยอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น อ่อนเพลีย การทำงานของตับและไตเสื่อมสมรรถภาพ สมองทำงานผิดปกติในที่สุด 

ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้สารพิษเกิดขึ้นตั้งแต่ต้น ต้องปรับพฤติกรรมการกินอาหาร โดยรับประทานอาหารให้ช้าลง เคี้ยวให้ละเอียด หลีกเลี่ยงอาหารย่อยยากอย่างเนื้อสัตว์ แป้งขัดขาว อาหารหวานมันที่ไม่มีกากใย แล้วหันมารับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืชไม่ขัดสี และผักผลไม้ต่างๆ เพื่อช่วยกวาดเศษอาหารไม่ให้ตกค้างนานเกินไป รวมทั้งดักจับสารพิษในลำไส้ด้วย

การปรับเปลี่ยนอาหารและวิธีการกินอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ถ้าคุณต้องการให้การล้างพิษเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุณอาจต้องใช้วิธีการชำระล้างจากภายในด้วย การอดอาหาร (fasting) ด้วย

ลีออน ไชทาว นักธรรมชาติบำบัดชาวอังกฤษกล่าวไว้ว่า “การอดเป็นวิธีการรักษาที่เก่าแก่ที่สุดที่มนุษย์รู้จัก มนุษย์ดึกดำบรรพ์จะหยุดกินโดยสัญชาตญาณหากรู้สึกไม่สบาย ดื่มน้ำเท่าที่ต้องการ แต่ไม่กินอะไรเลยจนกว่าจะหาย”

การอดอาหารในที่นี้หมายถึงการควบคุมตัวเองไม่ให้กินอาหารในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งต่อเนื่องกัน โดยมากมักจะทำเพียงแค่ 1-2 วันเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อน และสะสางทำความสะอาดตัวเองแทนที่จะใช้พลังงานหมดไปกับการย่อยอาหารอย่างที่เคยเป็น
อาหารที่รับประทานได้ในระหว่างอดอาหารคือน้ำผลไม้และผลไม้ (ชนิดใดชนิดหนึ่งต่อวัน) เพื่อลดภาระการย่อยอาหารให้ทำงานน้อยลงที่สุด และควรจะเป็นผลไม้ที่ไม่หวานจัด เช่น ฝรั่ง แตงโม แคนตาลูป มะม่วงดิบ มะละกอ แอปเปิล หรือแครอท

อย่างไรก็ตาม การอดอาหารเพื่อล้างพิษอาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมสำหรับทุกคน ถ้าหากมีปัญหาสุขภาพ หรืออยู่ในวัยกลางคนไปแล้วก็ควรหลีกเลี่ยงเทคนิคนี้ หรือถ้าหากจะทำควรได้รับความยินยอมจากแพทย์ 

อีกวิธีหนึ่งคือการล้างพิษด้วยการดื่มน้ำคั้นจากผลไม้หรือชาสมุนไพร เรียกว่า เครื่องดื่มบำบัด (Juice Therapy) เพราะเอนไซม์ที่มีในผักผลไม้จะช่วยกระตุ้น บำรุงและชะล้างส่วนต่างๆ ในร่างกายให้ทำงานได้ดีขึ้น
น้ำผักผลไม้ที่ให้เอนไซม์ ควรเป็นน้ำที่ได้จกการคั้น ไม่ใช่การปั่น และดื่มทันทีโดยไม่ผสมวัตถุปรุงแต่งใดๆ โดยการดื่มแต่ละครั้งควรจะเป็นน้ำคั้นจากผักหรือผลไม้เพียงชนิดเดียวเท่านั้น เพื่อให้ได้รับสารอาหารนั้นๆ อย่างเต็มที่ 
หากเกรงจะเบื่อ คุณสามารถหมุนเวียนชนิดของผักผลไม้ที่ใช้ไปได้เรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่หลากหลายขึ้น เช่น น้ำแครอทช่วยในการล้างไขมันและช่วยในการทำงานของตับ น้ำเซเลอรี่ช่วยทำให้เลือดสะอาดและเผาผลาญคอเลสเตอรอลน้ำมะระช่วยฟอกเลือดและการทำงานของไตและน้ำกระเทียมช่วยฆ่าเชื้อโรค ส่วนชาสมุนไพรก็สามารถปรุงไว้สำหรับดื่มตลอดทั้งวันตามแต่ที่คุณชอบ เช่น รากบัว ช่วยระบบหายใจ ไซนัส มะตูมช่วยให้เจริญอาหาร แก้จุกเสียดแน่นท้อง ขิงแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อเรอเหม็นเปรี้ยว ดอกคำฝอยช่วยขับปัสสาวะและลดไขมันในเส้นเลือดเป็นต้น

ทิ้งพิษในกายด้วยลมหายใจ 

การหายใจไม่ได้เป็นแค่การนำออกซิเจนซึ่งเป็นก๊าซดีเข้าไปเลี้ยงร่างกาย และนำคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเสียออกมาเท่านั้น การหายใจที่ถูกวิธียังจะช่วยให้การแลกเปลี่ยนอากาศเก่าใหม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คือได้รับออกซิเจนเต็มที่ โดยไม่เหลือคาร์บอนไดออกไซด์ตกค้างด้วย

แต่คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้ที่มีวิถีชีวิตเร่งรีบ มักจะหายใจสั้น ตื้น และถี่ เพราะใช้หน้าอกส่วนบนหายใจ ซึ่งนอกจากจะทำให้ได้ออกซิเจนน้อย มีอากาศเสียตกค้างในปอดมากแล้ว ก็ยังทำให้ร่างกายเหนื่อยง่ายและอ่อนแอลงด้วย (เพราะคาร์บอนไดออกไซด์ก็ถือเป็นพิษอย่างหนึ่งที่ร่างกายควรจะขับออกไปให้เร็วที่สุด) 

ลมหายใจที่ดี ควรจะมีรอยต่อ คือหายใจเข้า-ออก แล้วหยุดครู่หนึ่ง จึงหายใจเข้าออกครั้งต่อไป อัตราการหายใจที่เหมาะสมสำหรับผู้ใหญ่ควรจะอยู่ระหว่าง 14-18 ครั้งต่อนาที ส่วนวัยรุ่นอายุ 15-25 ปีควรอยู่ระหว่าง 20-22 ครั้งต่อนาที แต่ถ้าหากคุณหายใจหอบถี่ ต่อเนื่องไม่หยุด นั่นเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการหายใจที่ไม่มีประสิทธิภาพ(หายใจออกเท่าไรคาร์บอนไดออกไซด์ก็ไม่หมดสักที) จึงต้องเน้นที่ปริมาณ การเริ่มต้นสุขภาพที่ดีส่วนหนึ่งจึงมาจากการปรับวิธีการหายใจนั่นเอง 
การหายใจที่ถูกต้องนั้น เมื่อคุณหายใจเข้า ท้องจะป่อง และเมื่อหายใจออก ท้องจะยุบ โดยที่ทรวงอกไม่มีการเคลื่อนไหวหรือเคลื่อนไหวน้อยมาก ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีการหายใจที่ดีที่สุดและช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายได้มากที่สุด
ขับเหงื่อเพื่อขับพิษ

นอกจากการหายใจที่ถูกวิธีจะช่วยตั้งต้นระบบต่างๆ ในร่างกายให้ทำงานเต็มที่แล้ว การเคลื่อนไหวให้ร่างกายได้ขับเหงื่อก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยกำจัดสารพิษที่ตกค้างในแต่ละวัน เพราะฉะนั้น ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำจึงค่อนข้างมีสุขภาพแข็งแรง 

การออกกำลังกายยังให้ประโยชน์แก่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอีกหลายอย่าง ทั้งเพิ่มการหมุนเวียนเลือด รักษาความยืดหยุ่นของหลอดเลือด ช่วยปรับระบบการหายใจให้กำจัดของเสียที่เป็นโลหะหนัก และทำให้กากอาหารเคลื่อนตัวดีขึ้น

การออกกำลังกายที่ดีควรจะทำให้ร่างกายถึง จุดพีค (peak) คือออกแรงจนเหงื่อชุ่ม หัวใจเต้นแรงเกินกว่า 120 ครั้งต่อนาที เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายจะหลั่งสารแห่งความสุขหรือเอนดอร์ฟีนและโกรว์ธฮอร์โมนออกมา ซึ่งจะทำให้รู้สึกผ่อนคลายจากการซึมเศร้า และอารมณ์ดีขึ้น ทำให้การเผาผลาญอาหารทำงานเป็นปกติ นอนหลับสนิทและภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้น

การขับพิษออกทางผิวหนังยังสามารถทำได้อีกหลายวิธี เช่นการอบซาวน่า หรือการอบสมุนไพร ซึ่งทั้งสองวิธีนี้ใช้หลักการเดียวกันคือใช้ไอความร้อนทำให้ร่างกายขับเหงื่อ กำจัดสารพิษภายในร่างกายออกมา กระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิตขยายตัวและทำงานได้ดีขึ้น ผิวพรรณจึงผุดผ่องสดชื่น มีน้ำมีนวล และผ่อนคลาย

ห้องอบซาวน่าส่วนใหญ่จะตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 27-38 องศาเซลเซียส และการอบซาวน่าที่ดีที่สุดควรชำระร่างกายเสียก่อนและควรถอดเสื้อผ้าออกทั้งหมด เพราะการสวมเสื้อผ้าจะขัดขวางการระบายตัวของเหงื่อ ทำให้รู้สึกเหนอะหนะไม่สบายตัว โดยคุณอาจแบ่งการอบออกเป็น 2 ช่วงๆ ละ 15 นาที แต่ไม่ควรใช้เวลานานเกินกว่า 30 นาที หรืออบซาวน่ามากกว่าสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และเพื่อช่วยขับสารพิษและกระตุ้นระบบน้ำเหลืองให้ทำงานดีขึ้น คุณอาจใช้ใยบวบหรือแปรงขัดผิวมาช่วยทำความสะอาดด้วยก็ได้

ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ โรคไต ความดันโลหิตสูง โรคปอด ลมชัก ท้องเสียอย่างรุนแรง อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์หรือช่วงแรกของการมีประจำเดือน ควรหลีกเลี่ยงการอบซาวน่า
อ่านรายละเอียดของ การทำความสะอาดลำไส้ใหญ่, ล้างพิษในหัวใจ แบบทดสอบ ถึงเวลาล้างพิษแล้วหรือยัง และวิธี เปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ใน 14 วัน เพิ่มเติมในคอลัมน์ Health Special นิตยสาร Health & Cuisine ฉบับที่ 22 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2545 ค่ะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *